Sign In
New Customer?

พัฒนาการของโครงการเด็กไทยดูดี

1

โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่ 1 ได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2547 – 2549 ได้ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครองและนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัด สพฐ. 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ โรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง และโรงเรียนอนุบาลสามเสนฯ จำนวนนักเรียนที่เข้าร่วม 5,126 คน พบอัตราโรคอ้วน ร้อยละ 19.3 และไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงร้อยละ 77 7 หลังดำเนินการ 3 ปี โดยการสร้างความตระหนักแก่ครู ผู้ปกครองและนักเรียน จัดกิจกรรมทั้งด้านโภชนาการ การออกกำลังกายในโรงเรียน การให้นักเรียนประกวดเรียงความ คำขวัญ ทำอย่างไรจะดูดี การประชาสัมพันธ์รณรงค์ภัยของโรคอ้วน อัตราโรคอ้วนลดลงเหลือร้อยละ 16.8 ในปีที่ 2 และ18.0 ในปีที่ 3 ตามลำดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงลดลงเหลือร้อยละ 28 พฤติกรรมการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มลดลง แต่ผักผลไม้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ผู้บริหารสพฐ. มีดำรินำการแก้ไขปัญหานี้เข้าสู่นโยบาย จากนั้นโรงเรียนดำเนินการตามบริบทของโรงเรียนเอง จะเห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายต้องการความต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านไปและขาดการกระตุ้นก็มักจะย้อนกลับไปคล้ายเดิมจึงควรมีการสร้างวินัยในการกิน การใช้เวลาและการใช้เงินอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นนิสัยติดตัวต่อไปอย่างยั่งยืน

1

โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่ 2 ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2555-57 ในชื่อ "โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบให้เด็กไทยดูดี มีพลานามัย" ได้พัฒนาโรงเรียนต้นแบบในการจัดการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตของเด็กวัยเรียน ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัด สพฐ. 4 โรงเรียน (เครือข่ายเดิม) ในกรุงเทพมหานคร มีการกำหนดนโยบายการส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพด้วยโภชนาการและการออกกำลังกาย มีการประเมินภาวะโภชนาการและสุขภาพของนักเรียนเทอมละ 1 ครั้ง การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนโดยการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียนในการสร้างวินัยในตน และปรับสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงเรียนเอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ หลังดำเนินการ 2 ปี โดยการสร้างความตระหนักแก่ครู ผู้ปกครองและนักเรียน จัดกิจกรรมการและพัฒนาสื่อให้ความรู้ทั้งด้านโภชนาการ การออกกำลังกายในโรงเรียน การประชาสัมพันธ์รณรงค์ภัยของโรคอ้วน การประเมินภาวะโภชนาการและสุขภาพของนักเรียนในปี 2555 (หลังโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่ 1 ผ่านไป 6 ปี) พบอัตราโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในเด็กยุคใหม่จากเดิมร้อยละ 18.0 เป็นร้อยละ 21 และไขมันในเลือดสูงพบเพิ่มเป็นร้อยละ 66 พฤติกรรมการบริโภคเหมือนระยะที่ 1 หลังดำเนินโครงการ 1 ปี พฤติกรรมการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มลดลง ผักผลไม้เพิ่มขึ้น พบอัตราโรคอ้วนลดลงเหลือร้อยละ 20.1 และไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงลดลงเหลือร้อยละ 62 จะเห็นได้ว่าเปรียบเทียบกับระยะที่ 1 ได้ผลน้อยกว่า ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาอุปสรรคในยุคที่ปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งสื่อโฆษณา และการเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มรสหวาน มัน เค็ม ที่มีอยู่มากขึ้นและบริการจัดส่งถึงบ้าน ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกและการมุ่งเรื่องเรียนพิเศษทำให้ความสนใจกิจกรรมทางกายไม่มากเท่าที่ควร การควบคุมดูแลเด็กในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการออกกำลังกายจากครูและผู้ปกครอง นับเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้ ทักษะในการเลือกอาหาร และการมีวินัยในตนเองให้เด็กอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการบริโภค การใช้เวลา และการใช้เงิน ตลอดจน การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งด้านอาหาร และกิจกรรมทางกาย

1

โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่ 3 ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2557-59 ในชื่อ "โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เด็กไทยดูดี มีพลานามัย" ได้ดำเนินการใน 5 โรงเรียนเครือข่าย ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ โรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง โรงเรียนอนุบาลสามเสน และโรงเรียนพญาไท ได้พัฒนาให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพด้วยอาหารและการออกกำลังกาย ลดปัญหาโรคอ้วน โดยโรงเรียนมีการกำหนดนโยบาย การอบรมครูให้ตระหนักรู้ด้านอาหารและการออกกำลังกายและบูรณาการในบทเรียน การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพทั้งอาหารกลางวันที่มีผักผลไม้เพิ่มขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมการออกกำลังกาย เน้นการสร้างทักษะด้านโภชนาการและการออกกำลังกายในนักเรียนชั้นประถมปลาย โดยการสนับสนุนจากครูและผู้ปกครอง มีการติดตามประเมินภาวะโภชนาการเทอมละ 1 ครั้ง อัตราโรคอ้วนลดลงจาก ร้อยละ 22.9 เหลือร้อยละ 19.7 ได้ผลในระดับหนึ่ง กลุ่มศึกษามีคะแนนความรู้ 4 ทัศนคติด้านอาหาร การออกกำลังกายเพิ่มมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) และพฤติกรรมการบริโภคในกลุ่มศึกษาเหมาะสมเพิ่มขึ้น ได้แก่ การดื่มน้ำนมรสจืด 2 แก้ว /วัน การเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น ลดอาหารทอด มีผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น สำหรับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนด้านอาหารมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วน ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาผูกพันที่ผู้ประกอบการทำไว้ 1 ปี อาหารทอดปรับเป็นนึ่งในบางรายการ มีผลไม้ขายเพิ่มขึ้น มีมุมสวนผักคนเมือง (ปลูกในกระถาง) นโยบายโรงเรียนเครือข่ายเริ่มมีการปรับปรุง และเตรียมการสำหรับปีการศึกษาต่อไป ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายในโรงเรียนเครือข่าย โครงการฯ ได้พัฒนาโปรแกรมการสร้างทักษะชีวิตของนักเรียนด้านการบริโภคและการออกกำลังกายและทดลองใช้สื่อ “การสร้างทักษะเด็กไทยดูดี”และพัฒนาแกนนำในศูนย์เรียนรู้เด็กไทยดูดี มีพลานามัย ให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้และสนับสนุนการดำเนินงานให้กับโรงเรียนเครือข่าย ตลอดจนสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ และสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงปัญหาโรคอ้วนและการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดนโยบายในระดับองค์กรและระดับชาติ เนื่องจากโรงเรียนประถมศึกษาสังกัด สพฐ. ในกทม. ขึ้นตรงกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร (สพป.กทม) ผู้วิจัยได้รับการตอบรับให้เข้าพบผู้อำนวยการเขตสพป.กทม เพื่อนำเรียนถึงปัญหาและผลการดำเนินการโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เด็กไทยดูดี มีพลานามัย พร้อมสื่อที่พัฒนาของโครงการ และขอคำแนะนำการดำเนินการในระยะต่อไป ผู้อำนวยการเสนอแนะให้ขยายผลในโรงเรียนให้ครอบคลุมทั้งองค์กร เพื่อสนองนโยบายของผอ. เขตสพป. กรุงเทพมหานคร ซึ่งประสงค์จะให้ทั้ง 5 โรงเรียนเครือข่ายมีการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทั้งองค์กร ทั้งนักเรียน ครู บุคลากร ผู้ประกอบการในโรงเรียนและครอบครัว จะทำให้โรงเรียนเครือข่ายเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านสุขภาพอย่างสมบูรณ์ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โครงการได้พัฒนาสื่อที่สร้างทักษะด้านโภชนาการและการออกกำลังกายให้กับเด็กนักเรียน ตลอดจนบุคลากรได้มีส่วนขับเคลื่อนด้านสุขภาพไปพร้อมๆ กัน กอรปกับทางโครงการฯ ได้รับการติดต่อจากโรงเรียนมัธยมทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจการดำเนินงานของโครงการและประสงค์เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ปัญหาอุปสรรคที่พบเป็นเรื่องสัญญาผูกพันที่ผู้ประกอบการทำไว้กับทางโรงเรียนเรื่องอาหารทอดๆ ซึ่งเป็นอาหารที่เด็กๆ ชอบต้องรอหมดปีทำสัญญาใหม่ ลดอาหารทอดเปลี่ยนเป็นอบ นึ่ง เด็กๆ ส่วนหนึ่งยังชอบอาหารเครื่องดื่มรสหวาน มัน และเค็ม ยังบริโภคผัก ผลไม้น้อย การออกกำลังกายน้อย โรงเรียนมีเนื้อที่จำกัดด้านการออกกำลังกาย มุมสวนผักคนเมือง และปัญหาอาหารรอบๆ รั้วโรงเรียน ยังเป็นงานที่ต้องพัฒนาต่อไป

1

โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่ 4 ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2559-2561 ได้รับทุนสนับสนุนต่อเนื่องจากสสส. ในชื่อ "โครงการเปิดช่องทางแหล่งเรียนรู้เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน" เพื่อการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกายสู่การปฏิบัติจากโรงเรียนสู่ครอบครัวและชุมชน จาก 5 โรงเรียนประถมศึกษาเดิม ได้ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ดำเนินการในการจัดการควบคุมปัจจัยเสี่ยงในโรงเรียนต่อการเกิดโรคอ้วนและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตของเด็กวัยเรียนทั้งด้านอาหาร โภชนาการและกิจกรรมทางกาย และกิจกรรมลดปัญหาโรคอ้วน โดยโรงเรียนมีการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพและทีมดำเนินงานชัดเจน การพัฒนาศักยภาพแก่ครูและนักเรียนโดยการจัดสัมมนาผู้นำสุขภาพ 4.0 ให้ครูตระหนักรู้ด้านอาหารและการออกกำลังกายและบูรณาการในบทเรียน และอบรมค่ายผู้นำสุขภาพ 4.0 แก่ครูและนักเรียนเพื่อเป็นผู้นำสุขภาพ 4.0 นำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ได้รับไปดูแลเพื่อนนักเรียนและเผยแพร่ความรู้สู่ครอบครัวและชุมชน การทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายผู้ปกครอง ครู การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ นักเรียนได้ปลูกพืชผักสวนครัวในโรงเรียนเพื่อกระตุ้นให้สนใจและบริโภคผักมากขึ้น โรงเรียนมีการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพและปริมาณเหมาะสม มีผักทุกมื้อและผลไม้อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ตลอดจนการส่งเสริมการออกกำลังกาย เน้นการสร้างทักษะด้านโภชนาการและการออกกำลังกายโดยการสนับสนุนจากครูและผู้ปกครอง มีการสัมมนาครู ผู้ปกครอง นักเรียน การจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในโรงเรียนร่วมกับเครือข่ายรับทุน สสส. การลงนาม MOU กับ 4 โรงเรียนมัธยมเพื่อความต่อเนื่องยั่งยืน การพัฒนางานวิชาการองค์ความรู้ การรณรงค์สร้างกระแสและการสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ สู่ชุมชนผ่าน Socail media, line กลุ่ม การจัดทำสื่อ Info graphic โดยเน้น เรื่องการบริโภค ผัก ผลไม้ ลดหวาน มัน เค็ม การดื่มน้ำเปล่า การออกกำลังกาย อย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ภาวะโภชนาการของกลุ่มเป้าหมาย จากการติดตามประเมินภาวะโภชนาการเทอมละ 1 ครั้ง พบอัตราโรคอ้วนในโรงเรียนสังกัด สช. สูงกว่าสพฐ.ทั้งประถมและมัธยม ดังนี้ ระดับประถม สพฐ. อัตราโรคอ้วนร้อยละ 16.6 ขณะที่ระดับประถม สช.ร้อยละ 19.6 ส่วนมัธยม สพฐ. อัตราโรคอ้วนร้อยละ 16.7 และสช. ร้อยละ 33.6 (สูงเป็น 2 เท่าของ สพฐ) การตรวจทางชีวเคมีจากเลือด พบว่า ระดับประถม สพฐ. ไขมันในเลือดสูงร้อยละ 72.7 และ 62.5 ในสังกัด สช. หลังการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว พบอัตราโรคอ้วนในระดับประถม สพฐ. ลดลงจากร้อยละ 16.6 เหลือ 15.1 ระดับประถม สช.อัตราโรคอ้วนลดลงจากร้อยละ 19.6 เหลือร้อยละ 16.2 ส่วนโรงเรียนมัธยม สพฐ.เพิ่มเป็นร้อยละ 19.3 โรงเรียนมัธยม สช.ลดลงเหลือร้อยละ 27 ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนเอกชนมีปัญหามากกว่า แต่ผู้บริหารตระหนักถึงปัญหาและต้องการแก้ไข และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้ได้ผลดีกว่า แต่อัตราโรคอ้วนทั้งในสังกัด สพฐ และสช ยังสูงมากเมื่อเทียบกับรายงานระดับประเทศ นอกจากนี้ภาวะไขมันในเลือดสูง สพฐ. ลดลงเหลือร้อยละ 59.6 ส่วน สช. ไขมันในเลือดสูงลดเหลือร้อยละ 49.3 สถานการณ์ทั้งปัญหาโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงในเด็กอ้วนในพื้นที่เป้าหมายยังสูงมากและเกิดตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต และสูญเสียงบประมาณของประเทศจำนวนมหาศาล จำเป็นต้องดูแลแก้ไขต่อเนื่อง

ปัญหาอุปสรรคที่พบ คือ นโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาภาครัฐระดับใหญ่ 3 โรงเรียน มีภาระงาน โครงการ กิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะเป็นโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายผู้บริหารเน้นงานวิชาการเป็นสำคัญ ดังนั้นการบริหารงานโครงการฯ จึงเป็นภาระงานอีกอย่างที่จะต้องบรรจุไปในแผนงานของโรงเรียนอย่างชัดเจน จึงจะได้รับความร่วมมืออย่างเป็นระบบ การดำเนินนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพของเด็กนักเรียนน้อยกว่าโรงเรียนเอกชน ส่งผลให้เวลาการจัดกิจกรรมโครงการไม่เพียงพอ ตรงข้ามกับโรงเรียนเอกชนมีนโยบายสุขภาพคู่ขนานกับการศึกษา มีปัญหาโรคอ้วนในนักเรียนสูงมากและต้องการแก้ไขจึงดำเนินงานได้ผลดีกว่า

ผู้ปกครองมีเป้าหมายสูงในการให้บุตรหลานเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน และผู้ปกครองทำงานไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมโครงการฯ ตามเป้าหมายได้อย่างสม่ำเสมอ

นักเรียนมัธยมศึกษาอยู่ในช่วงวัยรุ่นมีความเป็นตัวของตัวเอง และเคยชินกับอาหารในวิถีชีวิตของคนเมืองที่ขาดความเข้าใจเรื่องสุขภาพที่ดี ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเรียนพิเศษ การรับประทานอาหารจานด่วน อาหารทอด น้ำอัดลม ฯลฯ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาโรคอ้วน การดูแลและการปรับพฤติกรรมทำได้ยากกว่าเด็กเล็ก ระยะปิดเทอมเด็กประถมขาดการดูแลจะบริโภคตามใจปากและเปิดเทอมประเมินภาวะโภชนาการพบว่าเด็กกลับมาอ้วนใหม่

ชุมชนในสังคมรอบๆ โรงเรียนใหญ่ๆ เป็นชุมชนเมือง นักเรียนเข้าถึงอาหารที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพได้ง่าย อีกทั้งโรงเรียนไม่เน้นด้านการออกกำลังกาย ชัดเจนตลอดปีการศึกษา ครูมีภาระหน้าที่และปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ตลอดจนผู้ปกครองมีส่วนร่วมได้รับการสร้างความตระหนักรู้และสละเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนสนับสนุนที่บ้าน โรงเรียนประถมและมัธยมที่ตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วนและต้องการแก้ไขปัญหาจะได้ผลดีกว่าโรงเรียนที่โครงการฯ เชิญเข้าร่วม การสร้างวินัยในการบริโภค การออกกำลังกายตั้งแต่เด็กเล็กจะง่ายกว่าและเป็นนิสัยต่อเนื่องไปจนโต ดังนั้นโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป จึงควรเป็นโรงเรียนที่สมัครใจ ระดับประถมหรือประถมต่อเนื่องถึงมัธยมโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่มีปัญหาโรคอ้วนสูงกว่า ในยุคThailand 4.0 การนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารองค์ความรู้มาใช้ในกระบวนการสร้างความตระหนักรู้ การสร้างวินัยในการบริโภค การออกำลังกาย ในการดูแลสุขภาพ ติดตามและประเมินผลภาวะโภชนาการและการออกกำลังกายในแต่ละวันด้วยตนเอง จะทำให้เกิดความสนใจและติดตามต่อเนื่อง เกิดการสร้างนวัตกรรม การสื่อสารประชาสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายและสังคม นำสู่การดูแลสุขภาพทั้งกลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ยั่งยืน ลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของประเทศจำนวนมหาศาล

1

โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่ 5 ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2561-2563 ได้รับทุนสนับสนุนต่อเนื่องจากสสส. ในชื่อ "โครงการเพิ่มช่องทางแหล่งเรียนรู้ สร้างเสริมสุขภาพด้วยอาหารและการออกกาลังกายเพื่อเด็กไทยดูดี 4.0"

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
  1. พัฒนาศักยภาพโรงเรียนเครือข่ายโรงเรียนสังกัดสช.ทั้งในกทมและส่วนภูมิภาค และสพฐ. ในกทม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโภชนาการ ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้และการออกกำลังกายบูรณาการงานวิชาการร่วมกับภาคีเครือข่ายของสสส. ด้วยเทคโนโลยี application ในยุค 4.0
  2. พัฒนาวิชาการและจัดการความรู้ : ศึกษารวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคอ้วนเพื่อชี้นำสังคมและเสนอแนะเชิงนโยบาย จัดการความรู้เพื่อหา Best practice สนับสนุนงานวิจัยและสร้างนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมหลากหลายที่นักเรียน ผู้ปกครอง และครู ต่างมีส่วนร่วม
  3. รณรงค์ สื่อสาร สร้างกระแสสังคมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านโรคอ้วนและผลักดันนโยบาย
ขั้นตอนการดำเนินการ
  1. เปิดตัวโครงการ เชิญผู้บริหาร สพป.กทม, สช. และผู้บริหารโรงเรียน รับทราบวัตถุประสงค์โครงการ และลงนามข้อตกลงร่วมกันผู้บริหารกำหนดนโยบาย
  2. โครงการฯ จัดอบรมให้ความรู้ ครูผู้นำสุขภาพ 4.0 โรงเรียนที่เข้าร่วม 40 โรงเรียน ครูที่เป็นแกนนำโรงเรียนละ 2 คน ใช้เวลาจัดอบรม 2 วัน 1คืนเพื่อนำความรู้กลับไปขยายผลให้แก่ทีมงาน
  3. ทีมครู ผู้ปกครอง นักเรียนร่วมกันพัฒนาโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยจัดกิจกรรมตามความรู้ที่ได้รับจากการอบรมครูผู้นำสุขภาพ 4.0
  4. นิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล เทอมละ 1 ครั้ง
  5. โครงการฯ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงานโรงเรียนภาคีเครือข่าย เมื่อสิ้นสุดการศึกษาปลายภาคการศึกษาที่ 2
ผลดีที่ทางโรงเรียนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ
  1. เกิดความตระหนักรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพด้วยโภชนาการและการออกกำลังกายกับ นักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง นำสู่การปฏิบัติ ทุกคนมีสุขภาพดีห่างไกลโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
  2. อัตราโรคอ้วนลดลงทั้งนักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง นักเรียนเรียนดี เก่งมีความสุข
  3. โรงเรียนสามารถได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์ สมศ. เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพในระดับดีมาก ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสามารถในการบริหารจัดการร่วมกิจกรรมกับสถาบันอื่น ๆ ในระดับประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพนักเรียนและบุคลากร
  4. โรงเรียนได้เป็นแหล่งเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย เป็นสถานที่ดูงาน