Sign In
New Customer?

ภัยคุกคามเด็กไทย เสี่ยงภัยโรคหัวใจในอนาคต

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในปัจจุบันทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา และเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย โดยเฉพาะเด็กไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากสังคมตะวันตก นิยมบริโภคอาหารพลังงานสูง รสหวาน มัน เค็ม ได้แก่ ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ขนมเค้ก ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม น้ำหวาน ฯลฯ ขณะเดียวกันมีการบริโภคผักผลไม้น้อย และขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและเกิดโรคอ้วน ปัญหาโรคอ้วนในเด็กกำลังเป็นภัยคุกคามเด็กไทย โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนและในเขตกรุงเทพมหานครพบโรคอ้วนในอัตราสูงสุด โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่1 ระหว่างปี 2547-2549 ดำเนินการในเครือข่ายโรงเรียนภาครัฐ 4 โรงเรียนได้รายงานผลการศึกษาพบเด็กวัยเรียนเป็นโรคอ้วนร้อยละ 20 ซึ่งมีไขมันในเลือดสูงถึงร้อยละ 78 ความดันโลหิตในเด็กอ้วนสูงกว่าเด็กปกติ พบ 1 ใน 3 ของเด็กอ้วนมีปื้นดำที่คอสัญญาณเตือนถึงโรค เบาหวาน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สะสมตั้งแต่วัยเด็กและเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต ผลจากการสร้างความตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วนและภาวะแทรกซ้อนให้กับผู้ปกครองและนักเรียน พบว่าการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในการแก้ไข ทำให้ปัญหาโรคอ้วนลดลงจาก ร้อยละ 20 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 18 ในปี 2549 ระดับไขมันในเลือดสูงลดลงเหลือร้อยละ 34 ในปี 2549 ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนคือ การเลี้ยงดูที่ตามใจ เด็กอ้วนมีการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง การขาดวินัยในการบริโภคอาหารเป็นเวลา ใช้เวลาในการดูทีวีมากกว่า และออกกำลังกายน้อยกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ พฤติกรรมการบริโภคของนักเรียนทั้งเด็กปรกติและเด็กอ้วนดีขึ้นกว่าก่อนดำเนินการ ยกเว้นการบริโภคผักผลไม้ยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จากปี 2550 -2554 การดำเนินการเป็นไปตามตามบริบทของโรงเรียน

โครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย ระยะที่ 2 โดยการสนับสนุนจาก สสส. ในปี 2555 ทำการสำรวจในเครือข่ายโรงเรียนภาครัฐ 4 โรงเรียนเดิม พบว่านักเรียนประถม 1-6 รุ่นใหม่มีอัตราโรคอ้วนร้อยละ 21 ไขมันในเลือดสูงร้อยละ 66 ใกล้เคียงกับเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และเด็กรุ่นใหม่ยังคงมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูง และบริโภคผักผลไม้น้อย ขาดวินัยในการบริโภคอาหารเป็นเวลา ใช้เวลาในการดูทีวีและเล่นเกมมากกว่าการวิ่งเล่นออกกำลังกายไม่ต่างกับระยะที่ 1 ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเหล่านี้ ได้เริ่มสะสมในวัยเด็กและหากยังต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา การมีส่วนร่วมของผู้บริหารในการกำหนดนโยบาย ครู และผู้ปกครองในการให้ความรู้และจัดหาอาหารที่เหมาะสม สร้างวินัยในการบริโภค การใช้เวลา และการใช้เงินอย่างรู้คุณค่า ย่อมนำมาซึ่งสุขภาวะของนักเรียนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศที่มีประชากรที่มีสุขภาพที่แข็งแรง