Sign In
New Customer?

ขนมนั้นสำคัญไฉน

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าขนม มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะเด็ก ซึ่งมักเป็นหนึ่งในหลายๆอย่างที่ผู้ใหญ่มักนำมาใช้ล่อหลอก หรือเป็นเครื่องต่อรองหรือให้รางวัลกับเด็ก ถ้ามองถึงความสำคัญของขนมแล้ว ขนมดูจะมีความสำคัญน้อยเมื่อเทียบกับอาหารหลัก 3 มื้อ ขนมส่วนใหญ่มักทำจากแป้ง น้ำตาล ซึ่งให้เพียงพลังงาน รสหวาน มัน เค็ม อาจเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อ แต่พบว่าเด็กกลับรับประทานมากและนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เด็กที่ทานอาหารหลัก 3 มื้อได้มากและยังเพิ่มขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะขณะดูทีวี ก็จะนำมาซึ่งโรคอ้วน ส่วนในเด็กที่น้ำหนักน้อย ขนมขบเคี้ยวจะยิ่งทำให้การจะรับประทานอาหารมื้อหลักลดลง ทำให้การเจริญเติบโตล่าช้า

การศึกษาของ สสส. พบว่าค่าขนมของเด็กไทยใช้จ่ายมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท/ปี=งบประมาณของ 6 กระทรวง ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างมาก 65 % ของค่าขนมเด็กใช้ไปในการซื้อขนมกรุบกรอบ

การศึกษาในภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าขนมขบเคี้ยวที่เด็กรับประทานคิดเป็นพลังงานร้อยละ 20 ของพลังงานที่ควรได้รับประจำวัน ซึ่งสูงพอสมควร และไปแทนที่อาหารหลัก 5 หมู่ ที่มีประโยชน์มากกว่า

ขนม/อาหารว่างเด็ก ที่มีขายในขณะนี้

  1. ขนมกรุบกรอบ
  2. ลูกอม ทอฟฟี่
  3. เวเฟอร์
  4. ขนมปัง คุกกี้ เค้ก
  5. ปลาหมึกอบกรอบ
  6. ไอศกรีม
  7. เจลลี่
  8. น้ำอัดลม น้ำหวาน
  9. ขนมไทย

ในทางโภชนาการ “ขนม”ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง หมายถึงขนมที่มีส่วนประกอบของสารอาหารครบ 5 หมู่ คือการมีโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ เพิ่มจาก แป้ง น้ำตาล ไขมัน ที่มีอยู่ เนื่องจากในขนมกรุบกรอบส่วนใหญ่ จะมีแป้ง น้ำตาล ไขมัน ผงชูรส เกลือ ซึ่งให้เพียงพลังงานและอาจเป็นโทษกับร่างกาย

ขนม/อาหารว่างที่มีคุณค่า และมองในภูมิปัญญาท้องถิ่น

  1. ขนมไทย น่าจะมีประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารสูงกว่า ยกตัวอย่าง ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมฟักทอง มีวิตามินเอ ข้าวต้มมัด ถั่วแปบ รสไม่หวานจัด มีแป้ง โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหาร ถั่ว งา มีโปรตีน และแคลเซียม
  2. ผลไม้ ส้ม กล้วย ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ ซึ่งมีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในทุกเพศ ทุกวัย

ขนมที่ควรหลีกเลี่ยง

  1. ขนมกรุบกรอบ ที่มีเกลือ ผงชูรส
  2. ขนมที่ใส่สีฉูดฉาด
  3. ลูกอม
  4. ขนมทุกชนิดที่ผสมกาแฟ
  5. เจลลี่
  6. น้ำอัดลม น้ำหวาน
  7. ไอติมแท่ง
  1. ขนมกรุบกรอบ ได้รับความนิยมสูง มักทำจากแป้ง มันฝรั่ง เกลือ ไขมัน และผงชูรส แต่งกลิ่น รส สี รสชาติส่วนใหญ่จะคล้ายกัน คือหวาน มัน เค็ม
    • สำหรับแป้ง น้ำตาลไขมันจะให้พลังงาน รับประทานมากเกินไปจะทำให้อ้วน และเป็นสาเหตุของโรคฟันผุในเด็ก
    • เกลือ มีผลต่อสุขภาพ ทำให้ไตทำงานหนัก และเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
    • ผงชูรส มีผลเสียต่อสุขภาพ มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับเกลือแกง อาจทำให้มีความดันโลหิตสูง อาการแพ้ผงชูรสได้เช่น ชาที่ปาก ลิ้น หน้า ร้อนวูบวาบ ผื่นแดงตามตัว แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก มีผลต่อระบบประสาท และสะสมนานๆ จะทำให้มีผลต่อประสาทตา ทำให้ตาบอดได้ การเกิดมะเร็ง ไตวาย
  2. ขนมที่ใส่สีฉูดฉาด ถ้าไม่ใช่สีผสมอาหาร จะเกิดเป็นโทษต่อร่างกาย เพราะจะมีโลหะหนัก เช่นตะกั่ว จะเป็นพิษต่อทั้งระบบประสาท ไต ฯลฯ
  3. ลูกอม น้ำตาล หวาน ทำให้ฟันผุ
  4. ขนมทุกชนิดที่ผสมกาแฟ มีคาเฟอีน ซึ่งกระตุ้น หัวใจ ทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ ปริมาณกาแฟพบสูงในลูกอมรสกาแฟ รองลงไปคือลูกอมสอดไส้ชอกโกแลค คุกกี้รสกาแฟ เวเฟอร์ เค้ก ไอศกรีมรสกาแฟ ตามลำดับ
  5. เจลลี่ โดยเฉพาะที่ขนาดพอคำ บรรจุเป็นถ้วยเล็กๆ บีบเข้าปากได้เลย พบอุบัติเหตุ เด็กสำลัก ติดคอ และเสียชีวิต มีประกาศห้ามขายแล้ว
  6. น้ำอัดลม มีน้ำ น้ำตาล เจือสี แต่งกลิ่น รส และอัดแก๊ส มีฤทธิ์เป็นกรด กินแล้วจะมีลมในกระเพาะทำให้ท้องอืด กรดกัดกระเพาะ ทำให้ปวดท้อง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในเด็กที่นำมาพบกุมารแพทย์
  7. ไอติมแท่ง มักพบในเขตปริมณฑลกรุงเทพ และในต่างจังหวัด มักใส่สีสดใส และที่สำคัญกรรมวิธีการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากสีที่อันตรายต่อสุขภาพยังอาจปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ทำให้เกิดอาการท้อง เสียได้

เราควรบริโภค “ขนม” ที่มีคุณค่าในปริมาณมากน้อยขนาดไหน

ขนมที่มีคุณค่าก็ให้พลังงาน จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ควรเป็นของว่าง เสริมระหว่างมื้อ 1-2 ครั้งต่อวัน จากอาหารหลัก 3 มื้อ ช่วงสาย และช่วงบ่าย

ถ้าเป็น ผลไม้ ประมาณ 1ส่วนเสริฟ: กล้วยน้ำว้า 1ผลหรือ
ส้ม1ผลหรือ
มะละกอ5-6ชิ้นคำ
ขนมไทยๆ: ขนมกล้วย ขนมฟักทอง1-2ชิ้น
ข้าวต้มมัด1กลีบ

ผู้ปกครองจะแนะนำบุตรหลานของตนอย่างไร เพื่อเด็กจะเลือกขนมที่มีประโยชน์

ปัจจุบันสื่อโฆษณาต่างๆ ด้านขนมเด็ก กำลังโหมกระหน่ำและมุ่งเป้าสู่เด็กทุกวัย เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครอบครัว ผู้ปกครอง จึงควรให้ความสนใจ พินิจพิเคราะห์ ในการเลือกขนม หรือให้คำแนะนำในการเลือกขนมกับบุตรหลาน หลักที่ควรคำนึง คือ 3 ป.

  1. ปลอดภัย
  2. ประโยชน์
  3. ประหยัด
  1. ปลอดภัย กินแล้วไม่มีโทษต่อร่างกาย ดูลักษณะทั่วไป สะอาด ไม่มีสีฉูดฉาด บรรจุในภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด การดู ฉลากอาหาร เลขทะเบียน อย. วันผลิต วันหมดอายุ และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และพลังงานที่ได้รับอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีสารปนเปื้อน จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่นเชื้อจุลินทรีย์ จะทำให้เกิดอาเจียน ท้องเสีย โลหะหนัก ผลต่อระบบประสาท ไต
  2. ประโยชน์ เด็กมักรับประทานขนม เพราะความอยาก อร่อย ควรสอนให้เด็กได้รู้จักเปรียบเทียบคุณค่าของขนมที่รับประทาน เช่นขนมไทย ผลไม้ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์มากกว่าในด้านการให้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหาร ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต และท้องไม่ผูก เมื่อเทียบกับขนมกรุบกรอบ ซึ่งจะได้รับพิษภัยจากเกลือ ผงชูรส และฟันผุ
  3. ประหยัด สอนให้เด็กรู้จักคิดก่อนซื้อ ว่าสิ่งที่ได้นั้นคุ้มค่ากับเงินที่จะจ่ายหรือไม่ เปรียบเทียบราคาในผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกัน

สรุป

  1. เลือกผลไม้ แทนขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน
  2. เลือกอาหารไม่ใส่สี หรือ ใช้สีธรรมชาติ
  3. ดูบรรจุภัณฑ์และฉลากอาหารก่อนซื้อ ขนมที่บรรจุในภาชนะหรือซองที่ปิดสนิท ควรดูฉลากอาหาร มีเลขทะเบียน อย. วันผลิต วันหมดอายุ พลังงานที่ได้รับ
  4. พิจารณาราคา
  5. ลดการกินขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน ถ้ากินควรแปรงฟันหลังรับประทาน
  6. ฝึกวินัยให้เด็กรับประทานเป็นเวลา ไม่จุบจิบ พร่ำเพรื่อ
  7. ขนมที่มีประโยชน์ ได้แก่ ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมฟักทอง ถั่วแปบ กล้วยบวดชี ฟักทองแกงบวด