เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มักมีสาเหตุจาก
- การเลี้ยงดู เด็กรับประทานน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือรับประทานไม่ถูกต้องทั้งปริมาณและ คุณค่า เนื่องจากความไม่รู้ หรือตามใจเด็ก
- ภาวะเจ็บป่วยของร่างกาย อาจมีโรคเรื้อรังหรือปัญหาของความพิการแต่กำเนิด ทำให้การเจริญเติบโตช้า เช่นโรคหัวใจ
- การพักผ่อน นอนหลับไม่เพียงพอ นอนดึก
ในระยะแรก น้ำหนักจะต่ำกว่าเกณฑ์ ยังไม่มีผลต่อความสูง แต่ถ้าต่ำอยู่ระยะหนึ่งแล้วจะมีผลต่อความสูง เด็กจะไม่ค่อยสูงเท่าเด็กปรกติ
ปัญหาเด็กตัวเล็กน้ำหนักน้อยมักเป็นที่กังวลของแม่ และพยายามหาวิธีต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกดีขึ้น เพราะนอกจากทางร่างกายจะเจริญเติบโตช้า ยังมีผลต่อการเรียนรู้ ความจำของสมอง การติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยบ่อย เนื่องจากภูมิต้านทานไม่ดี
วิธีที่ง่ายก็คือ คุณพ่อคุณแม่คงต้องพาน้องไปปรึกษาแพทย์ตรวจสุขภาพ เพื่อดูว่ามีปัญหาโรคทางกายหรือไม่ ถ้าดูแล้วผิดปกติไม่มาก เช่น เด็กดูสุขภาพดี ร่าเริงดี แต่มีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าปกติ คำถาม ที่ต้องตอบประการแรกคือ เด็กคนนี้เป็นเพียงเด็กปกติที่ผอมและตัวเล็ก เนื่องจากมีพันธุกรรมพ่อแม่ตัวเล็กหรือเด็กคนนี้มีความผิดปกติจริงๆ แพทย์จะช่วยบอกได้โดยใช้ส่วนสูงเฉลี่ยของพ่อแม่ แล้วเทียบกับตารางสำเร็จที่ทำไว้ว่า เด็กควรสูงเท่าไร ถ้าความสูงของเด็กเมื่อเทียบกับความสูงของพ่อแม่ไปด้วยกัน จะช่วยลดลดความวิตกกังวลของพ่อแม่ลงได้
แพทย์จะซักถามเรื่องการเลี้ยงดูอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน เด็กกินอาหารจุกจิกมากไหม เด็กที่จิบน้ำหวาน หรือกินขนมมาก ทำให้ไม่อยากอาหารเมื่อถึงมื้อจริงๆ อาจทำการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระเพื่อดูว่ามีพยาธิหรือไม่ ทดสอบวัณโรคหรือเอกซ์เรย์ปอดดูว่ามีวัณโรคหรือไม่ ถ้ามีโรคทางร่างกายก็ต้องรักษาควบคู่กันไปกับการรักษาภาวะขาดอาหาร ถามประวัติหรือจากการตรวจอุจจาระพบว่ามีพยาธิ ให้ยาถ่ายพยาธิในเบื้องต้นส่วนเด็กที่ไม่มีปัญหาของโรคที่จะมีผลกับสุขภาพ ก็ให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูต่อไป
คำแนะนำเรื่องอาหารในเด็กวัย 6-12 ปี
- ให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย
- ข้าว 2-3 ทัพพี
- เนื้อสัตว์ 2 ช้อนกินข้าว หรือไข่ 1 ฟอง
- ผัดผัก 1 ทัพพี
- ผลไม้ เช่น ส้ม 1 ผล (หรือ กล้วย 1 ผล หรือ มะละกอ 4-5 ชิ้นคำ หรือผลไม้อื่นๆ)
- นม 1 แก้ว
- ไข่ ถือ เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ในเด็กที่น้ำหนักน้อยรับประทานได้ทุกวันๆละ 1 ฟอง
- ปัญหาเด็กที่มีน้ำหนักน้อย แต่ละมื้อหากรับประทานได้น้อย อาจจะต้องแบ่งมื้อย่อย
- หากเด็กอยู่ในวัยซุกซนหรือห่วงเล่น อาจชวนมาให้มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารและให้ลองชิม ควรนั่งโต๊ะรับประทานพร้อมกับผู้ใหญ่ด้วยความสนุก และพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่าง
- พาเด็กไปออกกำลังกาย วิ่งเล่น เมื่อเด็กได้ใช้พลังงานก็จะทำให้หิว ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมกรุบกรอบ ลูกอมทอฟฟี่ หรือนม ก่อนมื้ออาหารเพราะเด็กจะอิ่มทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อย
- การที่เด็กรับประทานน้อย จะได้สารอาหารไม่ครบ และอาจขาดวิตามิน เกลือแร่บางตัว ซึ่งส่งผลให้เด็กเบื่ออาหาร แพทย์จะเสริมยาบำรุงให้ในช่วงแรก เมื่อเด็กได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ขาด ก็จะมีอาการดีขึ้น อาการเบื่ออาหารก็จะลดลง
- ให้เด็กนอนแต่หัวค่ำ วัยเรียนเด็กควรได้นอนหลับพักผ่อนวันละ 8-10 ชั่วโมง การนอนดึกจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ได้เต็มที่
เด็กจะเจริญเติบโตได้ดี ต้องการอาหารที่ดีและเพียงพอ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ ความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่นั่นเอง
เท่านี้ก็จะแก้ปัญหาลูกได้แล้ว หากยังไม่ได้ผลควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง