Sign In
New Customer?

รู้ได้อย่างไรว่าดูดี

อย่างไรจึงเรียกว่าดูดี?

คำว่า “ดูดี” นั้น มีการใช้ในหลายโอกาส ซึ่งจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อบอกว่า ดูดี ที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะหมายถึงขนาดร่างกายและแบบแผนการเจริญเติบโตของเด็กนักเรียนโดย เฉพาะในระดับประถมศึกษา และในผู้ใหญ่ทั่วๆ ไป

ดังนั้น ขนาดร่างกาย และแบบแผนการเจริญเติบโตในเด็กที่เรียกว่า ดูดี นั้น ก็น่าจะหมายถึงเด็กที่มีแบบแผนการเจริญเติบโตที่เหมาะสมตามวัย ไม่มีปัญหาทุพโภชนาการทั้งด้านการขาดและเกิน เป็นขนาดร่างกายที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถปฏิบัติกิจกรรมและการเรียน รู้ได้ดีที่สุด ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย

สำหรับผู้ใหญ่ขนาดร่างกายที่เรียกว่า ดูดี นั้น น่าจะหมายถึงขนาดของร่างกายที่ไม่อ้วนและผอมจนเกินไป และเป็นขนาดของร่างกายที่จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้น้อยที่สุด

วิธีการประเมินเพื่อบอกว่า “ดูดี” นั้นทำได้อย่างไร?

โดยทั่วไปการประเมินภาวะการเจริญเติบโตในเด็กซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ภาวะ โภชนาการขอ1งเด็กนั้น วิธีการที่นิยมใช้มากที่สุด คือ การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือวัดและเทคนิคการวัดที่ถูกต้อง

เครื่องชั่งนำหนักที่เที่ยงตรงสูง เช่น เครื่องชั่งชนิดที่ใช้ระบบคานงัด (Beam balance scale) หรือแบบ digital เป็นตัวเลขที่ใช้ตามโรงพยาบาลและมีสเกลบอกค่าละเอียดเป็น 0.1 กิโลกรัม จะเหมาะสมกว่าเครื่องชั่งชนิดสปริง (Bath room scale) การชั่งน้ำหนักควรทำในขณะที่ผู้ถูกวัดสวมเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็น ควรทำก่อนเวลาอาหาร ถ้าเป็นการวัดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตหลายๆ ครั้ง ควรทำการชั่งในเวลาเดียวกัน อ่านค่าน้ำหนักเป็นทศนิยม 1 ตำแหน่ง

สำหรับเครื่องมือวัดความสูง ควรเป็นเทปโลหะมาตรฐานที่มีสเกลละเอียดเป็น 0.1 เซนติเมตร ทาบติดกับแผ่นกระดานที่สามารถนำไปติดตั้งในลักษณะตั้งฉากกับพื้นเรียบและไม้ ฉากสำหรับวัดเพื่อบอกความสูง อ่านค่าความสูงเป็นทศนิยม 1 ตำแหน่ง

การวิเคราะห์เพื่อการแปลผลภาวะการเจริญเติบโตในเด็ก โดยทั่วไปจะนิยมใช้ น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ซึ่งจะมีข้อจำกัดบางประการ ตังอย่างเช่น กรณีของเด็กที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์อายุต่ำกว่าเกณฑ์ จะไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า การมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์นั้นเกิดจากเด็กซูบผอมจากการขาดสารอาหารในระยะ เวลาสั้นๆ หรือเป็นเด็กที่มีการเจริญเติบโตช้าจากการขาดสารอาหารมานานจนทำให้มีรูปร่าง เตี้ยและมีน้ำหนักตัวน้อย นอกจากนี้ กรณีของเด็กที่มีรูปร่างค่อนข้างสูงเมื่อเทียบตามเกณฑ์อายุ และมีน้ำหนักตัวมากสัมพันธ์กับส่วนสูง จะถูกประเมินว่าเป็นเด็กอ้วนได้ ดังนั้น น้ำหนักตามเกณฑ์อายุจึงเหมาะสำหรับการประเมินภาวะการขาดสารอาหาร โดยรวมในเด็ก และไม่เหมาะสำหรับการประเมินภาวะโภชนาการเกินโดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป และน้ำหนักตามเกณฑ์อายุจะมีประโยชน์มากสำหรับการติดตามเฝ้าระวังแบบแผนการ เจริญเติบโตของเด็ก เพื่อการควบคุมกำกับและส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญที่เหมาะสม

การเจริญของ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุที่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเด็กมีการขาดสารอาหารในระยะยาวหรือแบบเรื้อรัง ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตของส่วนสูงช้า จึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการประเมินภาวะโภชนาการเพียงลำพังโดยเฉพาะการ ประเมินประสิทธิผลของการดำเนินโครงการในช่วงสั้นๆ ควรใช้ร่วมกับตัวบ่งชี้อื่น เช่น น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง เด็กที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์หรือซูบผอม แสดงว่า มีการขาดสารอาหารในระยะสั้นหรือแบบเฉียบพลัน นอกจากนี้ น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงยังเป็นตัวบ่งชี้ที่เหมาะสมสำหรับการประเมินภาวะโภชนาการเกินในเด็ก อายุ 2 ปี ขึ้นไป

ดังนั้น ในการพิจารณาการเจริญเติบโตหรือภาวะโภชนาการของเด็กที่ดีที่สุดคือ การพิจารณาจากตัวบ่งชี้ทั้ง 3 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง

เกณฑ์การพิจารณาเพื่อบอกว่า “ดูดี” คืออะไร?

การพิจารณาการเจริญเติบโตของเด็กว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น ปัจจุบันใช้เกณฑ์อ้างอิง น้ำหนักและส่วนสูง ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2542 (ตามรูปกราฟ) เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าเด็กมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์หรือมากเกินเกณฑ์ที่ ชัดเจน จะใช้ช่วงการเจริญเติบโตที่น้อยกว่าหรือมากกว่าค่ามัธยฐาน (Median) + 2 S.D. (Median + 2 S.D.) ยกเว้น น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง จะตัดสินว่าเป็นโรคอ้วนเมื่อน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงมากกว่า 2 S.D. อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการค้นหาปัญหาเด็กที่เริ่มมีการเจริญเติบโตไม่เหมาะสม กรมอนามัยได้เพิ่มค่าอ้างอิงที่ Median +1.5 S.D. ช่วงการเจริญเติบโตระหว่าง +1.5 – 2 S.D. ถือว่าเป็นช่วงที่ต้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปสูการ เกิดปัญหาที่ชัดเจนทั้งด้านการขาดและเกิน

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพิจารณาว่าการเจริญเติบโตของน้ำหนักและส่วนสูงในเด็กช่วงใดที่จะถือได้ ว่า เป็นช่วงการเจริญเติบโตที่ควรส่งเสริมให้เกิดมากที่สุด หรือ “ดูดี” ก็คือ ช่วงการเจริญเติบโตของน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ที่ Median + 1.5 S.D.

การประเมินเพื่อบอกว่า “ดูดี” ในผู้ใหญ่เป็นอย่างไร?

การประเมินขนาดร่างกายผู้ใหญ่เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ภาวะสุขภาพที่นิยมใน ปัจจุบัน ได้แก่ ดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ซึ่งได้จากการนำค่าน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร
ยกกำลังสอง

ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก
(ส่วนสูงเป็นเมตร)2

การแจกแจงระดับค่าดัชนีมวลกายตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ดังนี้

ค่าดัชนีมวลกาย <18.5 กก./ม.2 หมายถึง ผอม
18.5-24.9 กก./ม.2 หมายถึง ปกติ
25.0-29.9 กก./ม.2 หมายถึง อ้วนระดับ1
30.0-39.9 กก./ม.2 หมายถึง อ้วนระดับ2
> 40.0กก./ม.2 หมายถึง อ้วนระดับ3

การศึกษาในปัจจุบันหลายการศึกษา แสดงว่า คนเอเซียที่มีดัชนีมวลกายเท่ากับคนยุโรปจะมีเปอร์เซนต์ของไขมันในร่างกายที่ มากกว่า และเริ่มมีปัญหาสุขภาพในระดับของค่าดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่า จึงมีการเสนอการแจกแจงระดับค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนเอเซีย ดังนี้

ค่าดัชนีมวลกาย <18.5 กก./ม.2 หมายถึง ผอม
18.5-22.9 กก./ม.2 หมายถึง ปกติ
23.0-24.9 กก./ม.2 หมายถึง ค่อนข้างท้วม(เริ่มเสี่ยง)
25.0-29.9 กก./ม.2 หมายถึง อ้วนระดับ1
> 30.0กก./ม.2 หมายถึง อ้วนระดับ2

การแจกแจงระดับค่าดัชนีมวลกายดังกล่าว การใช้ค่าดัชนีมวลกาย <18.5 กก/ม2 จากการสังเกตจะเป็นผู้ที่มีรูปร่างค่อนข้างผอม ดังนั้น ถ้าจะพิจารณาว่า ค่าดัชนีมวลกายที่ทำให้ “ดูดี” ไม่ผอมเกินไปหรืออ้วนเกินไปและเป็นช่วงที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพน้อยที่สุดในที่นี้จึงขอเสนอ ค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 19.0 – 22.9 กก./ม.2ซึ่งสอดคล้องกับค่าน้ำหนักตามส่วนสูงขององค์การอนามัยโลกที่เสนอไว้ใน Jellffe D.B., 1966. (WHO Monograph Series No. 53, 1966)

นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบวงเอวซึ่งแสดงถึงการสะสมไขมันบริเวณช่องท้อง พบว่า เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่ดี ดังนั้น จึงควรนำเส้นรอบวงเอวมาพิจารณาร่วมกับค่าดัชนีมวลกาย กล่าวคือ ในผู้ใหญ่ ขนาดของร่างกายที่ “ดูดี” คือ ควรมีดัชนีมวลกายระหว่าง 19 – 22.9 กก./ม.2 และมีเส้นรอบวงเอวไม่เกิน 90 ซม. (36 นิ้ว) สำหรับเพศชาย และ ไม่เกิน 80 ซม. (32 นิ้ว) สำหรับเพศหญิง

แหล่งข้อมูล : World Health Organization 2000:20.